วันอังคารที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2554

คำที่คนมักเขียนผิด

คำที่คนมักเขียนผิด
สรร เช่น เลือกสรร สรรสร้าง (แกล้งเลือก) สรรหา (เลือกมา)

สรรค์ – (สร้าง) มักเข้าคู่กับ สร้างเป็น สร้างสรรค์ , สรรค์สร้าง เทียบกับ รังสรรค์ , รังสฤษฏ์ ที่หมายถึง สร้าง เหมือนกันครับ

เหมือนจะถูก (แต่ผิด) --> "แสบสันต์"
ซึ่งที่จริงต้องสะกดว่า แสบสัน
(เพราะถ้า สันต์ มันต้อง สุขสันต์ แล้ว กระมัง)
"สร้างสรรค์" กับ "สรรค์สร้าง" หรือ "สรรสร้าง"

โดย ทั่วไปเราทราบกันดีว่า คำว่า "สร้างสรรค์" นั้น ความหมายคือ การสร้างสิ่งที่ไม่มีให้มีขึ้น ความหมายตามพจนานุกรมให้ไว้ว่า...สร้างสรรค์  ก. สร้างให้มีให้เป็นขึ้น (มักใช้ทางนามธรรม) เช่น สร้างสรรค์ความสุขความเจริญให้แก่สังคม. ว. มีลักษณะริเริ่มในทางดี เช่น ความคิดสร้างสรรค์ ศิลปะสร้างสรรค์.

แต่ บางครั้ง เราพบว่า มีการใช้คำๆ นี้ สลับกัน จาก "สร้างสรรค์" เป็น "สรรค์สร้าง" โดยผู้ใช้ ที่ใช้ตาม อาจจะได้ยินมา (สัน-สร้าง) และเข้าใจว่า ต้องเขียนเป็น "สรรค์สร้าง" ซึ่งดูแปลก และเก๋ ดี แต่ความจริงแล้ว เมื่อใดก็ตามหากจะเขียนให้ออกเสียงต่างกัน นั่นต้องมาจากจุดประสงค์ ที่เข้าใจว่าต้องการสื่ออะไร เพราะการที่ใช้คำว่า "สรรค์สร้าง" การเขียนที่ถูกต้องคือ "สรรสร้าง" คือ ไม่มี "ค์" ต่อหลัง "สรร" เพราะโดยแท้จริงผู้ที่เข้าใจถูกต้องจะใช้คำนี้โดยสื่อว่า "สรร" นั่นคือ การหามา รวบรวมมา แล้วนำมาสร้าง ซึ่งความหมายจะแตกต่างจากคำว่า "สร้างสรรค์"

"สร้างสรรค์" กับ "รังสรรค์" ใช้อย่างไร

อีก คำหนึ่งที่เราเห็นใช้กันบ่อยหน และคิดว่าเป็นคำที่สวยงาม โดยขาดความเข้าใจว่า สองคำนี้ แม้จะความหมายเดียวกัน แต่การนำมาใช้นั้น ต้องเลือกใช้ให้ถูกต้อง ซึ่งเรามักจะพบใช้คำว่า "สร้างสรรค์" กันโดยส่วนใหญ่ แต่บางครั้งจะได้ยินหรือได้เห็นผ่านสื่อสิ่งพิมพ์ใช้คำว่า "รังสรรค์"

คำว่า "รังสรรค์" โดยความหมายแล้ว จะใช้เฉพาะกับสิ่งที่กล่าวถึงนั้น เป็นงานศิลปะ งานจิตรกรรม เช่น "กาลิเลโอ คีนิ จิตรกรเอกผู้รังสรรค์งานศิลป์ ในพระที่นั่งอนันตสมาคม" เราจะไม่ใช้ว่า "ให้เรามาร่วมกัน รังสรรค์สังคมให้น่าอยู่" แต่จะใช้ "สร้างสรรค์สังคม"


คำนี้เขียนอย่างไรดี "สีสรรค์" "สีสัน" หรือว่า "สีสรร"

หลาย ครั้ง เราอาจจะเคยอ่านพบข้อเขียน "บรรยากาศในวันนั้น มีหลากหลายรายการที่ผู้จัดงานได้นำมาช่วยสร้างสีสรร" บ้างก็เขียนว่า "วันนี้ ทุกคนต่างสนุกสนานกันถ้วนหน้า ที่นักแสดงชื่อดัง ได้มาร่วมร้องเพลงสร้างสีสรรค์"

หากไม่คุ้นกับการเขียนคำนี้ หลายคนก็อาจจะผ่านตาไป ไม่ได้สนใจ แต่บางคนก็จะนึกขัดๆ ตา และถามตัวเองว่า จริงๆ แล้วคำนี้ เขียนว่า "สีสัน" "สีสรรค์" หรือว่า "สีสรร" กันแน่

หาก เปิดพจนานุกรม เพื่อค้นหาความหมายของคำว่า "สีสรรค์" เราจะไม่พบอะไร ส่วนคำว่า "สีสรร" เมื่อค้น ก็จะไม่พบความหมายเช่นกัน แต่อาจจะแปลความตามหลักการผสมคำได้ว่า สี+สรร ซึ่งจะรวมความหมายแปลได้ว่า สีที่สรร หรือ สีที่เลือกสรร มา ซึ่งความหมายก็จะไม่ตรงกับจุดประสงค์ที่ต้องการสื่อผ่านประโยคดังข้างต้น

ครั้น ค้นความหมายคำว่า "สีสัน" เราก็จะไม่พบความหมายในพจนานุกรมเช่นกัน ทว่า ได้มีการนำมาใช้เขียนเมื่อต้องการบรรยายในเชิงศิลปะ หรือ บรรยากาศ ที่เกี่ยวเนื่องด้วยภาพ เสียงดนตรี หรือความรื่นรมย์ บันเทิงต่างๆ ซึ่งในหมู่นักเขียน จะเข้าใจในทิศทางเดียวกัน

เมื่อใด ที่เห็นว่า เหมาะควรจะใช้คำนี้ เราจึงเขียนว่า "สีสัน"


กฎ - รวมไปถึงคำอื่น ๆ เช่น กฎเกณฑ์ กฎหมู่ (ผู้คุมกฎ ก็ใช้แบบนี้ครับ) มักสะกดผิดเป็น คงไปนึกเทียบกับคำว่า ปรากฏ กบฏ

*ข้อสังเกต : ถ้าคำพยางค์เดียว ใช้ ฎ ชฎา แต่ถ้าคำสองพยางค์ ลงด้วย ฏ ปฏัก

กะทันหัน - (ไม่ใช้ กระทันหัน นะครับ ส่วน กะทัดรัด ก็เขียนแบบเดียวกัน)

กะพริบ - เช่น กะพริบตา มักเขียนผิดเป็น กระพริบกันมากด้วย

กังวาน (เสียง) - มักเขียนผิดเป็นกังวาล

ช็อก - สภาพที่ร่างกายเสียเลือดมาก , สะเทือนใจรุนแรง , ถูกกระแสไฟฟ้า เป็นคำใช้ทับศัพท์ภาษาอังกฤษว่า shock

เช็ก - ตรวจสิ่งต่าง ๆ เป็นคำใช้ทับศัพท์ภาษาอังกฤษว่า check (ส่วน เช็คหมายความถึงพวกเช็คที่เป็นสมุดครับ อย่างเช่นเขียนเช็คจ่ายสด มาจากคำอังกฤษว่า cheque)

โชก - ในคำว่า เหงื่อโชก ใช้คำว่า เหงื่อโซก หรือเหงื่อโซม ก็ได้ (เอามาใช้บ้างก็ดีนะครับ ผมก็เพิ่งรู้เหมือนกันเพราะได้ยินคำว่า เหงื่อซก ด้วย)

ตงิด - เช่น หิวตงิด ๆ ออกเสียงว่า ตะหงิดจึงมักเขียนผิดไปตามเสียงอ่าน

ตึก ๆ , ตึ้ก ๆ , ตึ้กตั้ก - เสียงหัวใจเต้นเวลาเหนื่อยหรือตกใจ

ทะนง หรือ ทระนง - ถือตัว , หยิ่ง เช่น ทะนงตน ทะนงศักดิ์

เท่ - มักเขียนผิดเป็น เท่ห์” (อย่างหลังนี่จะเขียนเป็นสนเท่ห์ที่แปลว่า สงสัย ครับ)

นั่นปะไร - เป็นไปอย่างที่พูด มักเขียนผิดเป็น นั่นประไร” (ผมว่า ช่างปะไร , ช่างมันปะไร ก็น่าจะใช้แบบเดียวกัน)

นัยน์ตา - (เจอบางคนใช้ นัยตา , นัยย์ตา หรือแม้แต่ นัยต์ตา ก็มี)

ปรานี - เอ็นดูด้วยความสงสาร มักเขียนผิดเป็น ปราณีซึ่งจะผิดความหมายไปเลย เพราะ ปราณีหมายถึง ผู้มีชีวิต

ปาฏิหาริย์ - (บางคนใช้ ปาฏิหาร แบบหารเลขมาเลย)

ผล็อย - เช่น หลับผล็อย (หลับโดยเร็ว) ใช้ว่า ผ็อย หรือ ผ็อย ๆ ก็ได้

แผล็บ , แผล็บ ๆ - เช่น แลบลิ้นแผล็บ ๆ (เผลอแผล็บเดียว ก็ใช้ได้ครับ) จะใช้ว่าแพล็บ หรือ แพล็บ ๆ ก็ได้

พรรค์ - เช่น คนพรรค์นั้น (ต้องมี ค์ ด้วยนะครับ)

มนตร์ - เช่น ร่ายมนตร์ เวทมนตร์ แต่คำว่า มนต์จะใช้เกี่ยวกับพิธีการทางศาสนา เช่น สวดมนต์

มุก - ทำให้ขบขัน เป็นคำเก็บใหม่ มักเขียนผิดเป็น มุข

เลือนราง - ไม่ชัดเจน , พอระลึกได้บ้าง

โลกันตร์ - ชื่อขุมนรกที่มีการลงโทษหนักที่สุด ไม่ผุดไม่เกิด มักเขียนผิดเป็น โลกันต์

สุ้มเสียง - โบราณเขียนเป็น ซุ่มเสียง” (จะใช้อย่างหลังนี้ก็ได้ครับ แต่ไม่นิยมกันแล้ว)

หน็อยแน่ - คำเปล่งไม่พอใจหรือผิดหวัง มักเขียนผิดเป็น หนอยแน่

หลับใหล - เช่น ในบทโคลงลิลิตพระลอว่า สองเขือพี่หลับใหล ลืมตื่น ฤๅพี่

เหงื่อกาฬ - เหงื่อของคนใกล้จะตาย โดยปริยายหมายถึง เหงื่อแตกด้วยความตกใจ

อาถรรพ์ - อำนาจลึกลับที่เชื่อว่าบันดาลให้มีความเป็นไป เช่น ต้องอาถรรพ์ มีอาถรรพ์ ใช้ว่า อาถรรพณ์ หรือ อาถรรพณะ ก็ได้ แต่นิยมใช้คำแรกมากกว่า เพราะเขียนและอ่านชัดเจนดี

เหมือนจะถูก (แต่ผิด) --> "กระสันต์"
ซึ่งที่จริงต้องสะกดว่า กระสัน
(ดูตัวอย่างคำแรกซะก่อน -_-')
อันนี้ลองยืนยันได้ครับเนื่องจากพอพิมพ์คำว่า กระสันต์ ลงไป หาไม่เจอครับ
แต่เมื่อพิมพ์ใหม่โดยสะกดให้ถูก (ทั้งที่หน้าตาไม่คุ้นเลย) ว่า กระสัน
ก็ได้คำแปลออกมาดังต่อไปนี้
lust, See also: feel a sexual desire; crave; hunger for
Example: ความรู้สึกกระสันเกิดขึ้นทันทีเมื่อเขานึกถึงสาวคนรัก,
Thai definition: กระวนกระวายในกาม
ดังนั้น คราวหน้าที่จะเขียนเล่าว่าคุณเกิด "กระวนกระวายในกาม" ขึ้นมานะ
สะกดให้ถูกๆ นะครับพี่น้องเหอะๆ

เหมือนจะถูก (แต่ผิด) --> "กระทันหัน"
ซึ่งที่จริงต้องสะกดว่า กะทันหัน (นิวก็ใช้ กระ- มาตลอดเลยล่ะ)

เหมือนจะถูก (แต่ผิด) --> "กาละเทศะ"
ซึ่งที่จริงต้องสะกดว่า กาลเทศะ
(นี่ก็สับสนบ่อยมาก เพราะผมคิด (ไปเองมั่วๆ) ว่า
เมื่อ เทศะ มันก็ต้อง กาละ ให้มัน balance กันสิ -_-')

เหมือนจะถูก (แต่ผิด) --> "กิจลักษณะ"
ซึ่งที่จริงต้องสะกดว่า กิจจะลักษณะ
(เอาเข้าไป อันนี้ดันกลับกันกับอันข้างบน
กล่าวคือ ที่ถูกต้อง จะต้อง "-ะ หน้า -ะ หลัง" ครับ)
(ระวัง !อย่าสับสนระหว่าง กาลเทศะ กับ กิจจะลักษณะ)

เหมือนจะถูก (แต่ผิด) --> "คึ่นช่าย"
ซึ่งที่จริงต้องสะกดว่า ขึ้นฉ่าย อันนี้คนโดยมากเขียนผิดเพราะไปเขียนตามเสียงพูด
เคยคิด (เอาเองอีกแล้ว) ว่า มันไม่น่าจะสะกดว่า "ขึ้น"เพราะมันดูเป็นคำไทยเกินไป

เหมือนจะถูก (แต่ผิด) --> "คฤหาสถ์"
ซึ่งที่จริงต้องสะกดว่า คฤหาสน์ (อันนี้ผิดเพราะมีตัวอย่างผิดๆ ให้เห็นเยอะเกินไปครับ
ใครๆ ก็เขียนผิดเป็น คฤหาสถ์ ทั้งนั้น เราเลยจำกันผิดๆ)

เหมือนจะถูก (แต่ผิด) --> "ดุลย์การค้า"
ซึ่งที่จริงต้องสะกดว่า ดุลการค้า (คำนี้ตามสื่อทั้งหลายก็ผิดให้เห็นเป็นระยะนะครับ)

*** เหมือนจะถูก (แต่ผิด) --> "ตกร่องปล่องชิ้น"
ซึ่งที่จริงต้องสะกดว่า ตกล่องปล่องชิ้น
(อันนี้ได้ยินคนอ่าน ตก "ร่อง" ปล่อง ชิ้น มาโดยตลอดเพราะคงคิดว่าเหมือน
 'แผ่นเสียงตกร่อง' นั่นเองก็เลยเอามาเขียนผิดๆ ตามไปด้วย)
จะบอกว่าคำนี้เห็นเขียนผิดในเล้าเป็ดของเราบ่อยมากอิๆ

เหมือนจะถูก (แต่ผิด) --> "ตะกละตะกราม"
ซึ่งที่จริงต้องสะกดว่า ตะกละตะกลาม
(ตะกรุมตะกราม แต่ ตะกละตะกลาม ครับจะ ร.เรือ ก็ต้อง ร.เรือ กันไปทั้งหน้าหลัง
จะ ล.ลิง ก็ต้อง ล.ลิง กันไปทั้งหน้าหลังเหมือนกัน ไม่ต้องมา mix and match)

เหมือนจะถูก (แต่ผิด) --> "ทรมานทรกรรม"
ซึ่งที่จริงต้องสะกดว่า ทรมาทรกรรม(มันคือ ทอ-ระ-มา-... ครับ ไม่ใช่ ทอ-ระ-มาน-...)
คำนี้ยอมรับเลยว่าไม่เคยอ่านและเขียนถูกมาตลอดชีวิต ฮ่าๆ

เหมือนจะถูก (แต่ผิด) --> "ไนท์คลับ"
ซึ่ง ที่จริงต้องสะกดว่า ไนต์คลับ(อันนี้แม้ไม่คุ้นอย่างแรง ก็ต้องเชื่อตามราชบัณฑิตฯ ล่ะครับต้องโทษพวกป้ายทั้งหลายที่ชอบสะกดผิดๆทำให้เราเห็นแล้วจำผิดๆ มาด้วย )

เหมือนจะถูก (แต่ผิด) --> "แบหรา / แผ่หรา"
ซึ่งที่จริงต้องสะกดว่า แบหลา / แผ่หลา (อ้าว เหรอ -_- อันนี้ผมก็ผิดประจำ)

เหมือนจะถูก (แต่ผิด) --> "พาลจะเป็นลม"
ซึ่งที่จริงต้องสะกดว่า พานจะเป็นลม (อ้าว ผิดอีกแล้วเหรอ เป็นลมดีกว่า)
หมายเหตุ : พาน แปลว่า เกือบ ครับ

เหมือนจะถูก (แต่ผิด) --> "พิธีรีตรอง"
ซึ่งที่จริงต้องสะกดว่า พิธีรีตอง
(ผมว่าผมสะกดผิดเพราะดันไปจำสลับกับ ซีตรอง แหงๆ เลย)

เหมือนจะถูก (แต่ผิด) --> "เพชรฆาต"
ซึ่งที่จริงต้องสะกดว่า เพชฌฆาต

เหมือนจะถูก (แต่ผิด) --> "มะล่อกมะแล่ก"
ซึ่งที่จริงต้องสะกดว่า ม่อลอกม่อแลก
(เอ่อ คือ ... -_-' ลองอ่านเวอร์ชันที่ถูกออกมาดังๆ แล้วหลอนมากเลยครับ)

เหมือนจะถูก (แต่ผิด) --> "ร้างลา / เลิกลา"
ซึ่งที่จริงต้องสะกดว่า ร้างรา / เลิกรา (อันนี้เคยได้ยินแบบที่ผิดบ่อยๆ ในเพลงฮิตๆ)

เหมือนจะถูก (แต่ผิด) --> "เลือนลาง"
ซึ่งที่จริงต้องสะกดว่า เลือนราง (ผิดเพราะออกเสียงกันไม่ชัดเองครับ)

เหมือนจะถูก (แต่ผิด) --> "ฤกษ์ผานาที"
ซึ่งที่จริงต้องสะกดว่า ฤกษ์พานาที (อันนี้เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของการที่เขียนผิด
เพราะอ่านผิดครับผมเองยังได้ยินคนอ่าน เริก-ผา อยู่เยอะมาก เลยจำกันผิดๆ)

เหมือนจะถูก (แต่ผิด) --> "ลาสิกขาบท"
ซึ่งที่จริงต้องสะกดว่า ลาสิกขา (แล้ว -บท มาจากไหน? )

เหมือนจะถูก (แต่ผิด) --> "ริดรอน"
ซึ่งที่จริงต้องสะกดว่า ลิดรอน(คำนี้ผมก็ผิดมาตลอดชีวิตครับ)

เหมือนจะถูก (แต่ผิด) --> "เลือดกลบปาก"
ซึ่งที่จริงต้องสะกดว่า เลือดกบปาก
กบ ๖ ว. เต็มมาก, เต็มแน่น, เช่น ข้าวกบหม้อ มะพร้าวมีลูกกบคอ เลือดกบปาก

เหมือนจะถูก (แต่ผิด) --> "วาทยากร"
ซึ่งที่จริงต้องสะกดว่า วาทยกร (เนื่องจากลากเสียงยาวเกินไป เป็น วาทยา~กร
ก็เลยนึกว่าสะกดแบบนี้ไงครับที่จริง -ทะ-ยะ- ออกเพียงครึ่งเสียงเท่านั้น)

เหมือนจะถูก (แต่ผิด) --> "สับปรับ"
ซึ่งที่จริงต้องสะกดว่า สับปลับ (เป็นเพราะผมเอาไปปนกับคำว่า "จับ-ปรับ" แน่เลย)

เหมือนจะถูก (แต่ผิด) --> "สัมนา"
ซึ่งที่จริงต้องสะกดว่า สัมมนา (อย่าไปจำว่า seminar มี m ตัวเดียว สัมนา ก็ต้องมี ม.ม้า ตัวเดียว อย่างนี้ล่ะครับ )

เหมือนจะถูก (แต่ผิด) --> "สูญญากาศ"
ซึ่งที่จริงต้องสะกดว่า สุญญากาศ
(สระ อุ เสียงสั้นนะครับ ไม่ใช่สระอูเสียงยาว
คนจะเอาไปปนกับ สูญ ในคำว่า สูญสิ้น กระมังผมว่า เลยจำกันผิดๆ)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น